DOWN LOAD WEBSITE

  • โครงการ “การประเมินผลกระทบ ความเสี่ยง ความล่อแหลมเปราะบาง และแนวทางการปรับตัว ของระบบการเกษตรและสังคมเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต: กรณีศึกษาลุ่มนํ้าชี-มูล” (วิเชียร เกิดสุข, ศุภกร ชินวรรโณ, พรวิไล ไทรโพธิ์ทอง - 2556)

    การวิจัยโครงการ “การประเมินผลกระทบ ความเสี่ยง ความล่อแหลมเปราะบาง และแนวทางการปรับตัว ของระบบการเกษตรและสังคมเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต: กรณีศึกษาลุ่มนํ้าชี-มูล” นี้ เป็นการพัฒนากรอบการประเมินผลกระทบ ความเสี่ยง ความล่อแหลมเปราะบางและแนวทางการปรับตัว ของระบบการเกษตรและสังคมเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต โดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจและสังคมซึ่งอาจทําให้ความเสี่ยงตลอดจนแนวทางการจัดการความเสี่ยงที่ดําเนินอยู่ปัจจุบันของภาคส่วนเกษตรและชุมชนเกษตรเปลี่ยนแปลงไป การศึกษานี้เป็นการดําเนินการศึกษาอนาคต (Future Study) โดยทําการประเมินความเสี่ยงและความล่อแหลมเปราะบางบนภาพฉายอนาคตที่จัดทําขึ้นในการศึกษานี้ และพิจารณาถึงแนวทางการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตโดยจับประเด็นความมั่นคงของชุมชนเกษตร (resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต และความทนทานของแผนพัฒนาชุมชนที่เน้นการจัดการความเสี่ยงจากสภาพอากาศ (robustness) ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต

    การศึกษานี้เป็นการประเมินความเสี่ยง ความล่อแหลมเปราะบางและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศใน 2 ระดับ คือ

    • ระดับลุ่มนํ้า เป็นการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อผลผลิตพืชไร่-นาของลุ่มนํ้าชี-มูล และวิเคราะห์ความเสี่ยง ความเปราะบางต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อผลผลิตการเกษตรเป็นรายจังหวัด และพิจารณาถึงแนวทางการปรับตัวในแง่มุมของการปรับพื้นที่เพาะปลูกตามทิศทางการพัฒนาในอนาคต โดยมองถึงรูปแบบพื้นที่เพาะปลูกที่ได้ผลดีที่สุดและมีความแปรปรวนน้อยที่สุดภายใต้ภูมิอากาศในอนาคต

    • ระดับชุมชน ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยง ความเปราะบางต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อผลผลิตการเกษตรจากผลการวิเคราะห์ระดับลุ่มนํ้า และพิจารณาถึงแนวทางการปรับตัวในบริบทของชุมชน โดยจับประเด็นการจัดการความเสี่ยงและการจัดการการเพาะปลูกที่สอดคล้องกับภูมิอากาศในอนาคต

    การศึกษาครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อผลผลิตในอนาคตของพืชไร่-นาหลัก 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด มันสําปะหลัง และอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของลุ่มนํ้าชี-มูล โดยประเมินการเปลี่ยนแปลงผลผลิตตามพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปจนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้

    • การประเมินความเสี่ยงของกลุ่มจังหวัดในลุ่มนํ้าชี-มูล จากการเปลี่ยนแปลงผลผลิตพืชไร่-นา อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต โดยกําหนดกรอบการประเมินครอบคลุมช่วงระยะเวลา 30 ปีระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2592 (ทศวรรษที่ 2020s – 2040s)

    • การศึกษาถึงการปรับโครงสร้างการผลิตพืชไร่-นา และประเมินพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มนํ้าชี-มูล ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้แนวทางการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่แตกต่างกันหลายแนวทาง และประเมินผลผลิตในอนาคตของพืชไร่-นาหลัก 4 ชนิดภายใต้พื้นที่เพาะปลูกและสภาพอากาศในอนาคต

    • การประเมินความเปราะบางของระบบเกษตรพืชไร่-นาในเขตลุ่มนํ้าชี-มูลจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้การปรับรูปแบบการเพาะปลูกตามแนวทางการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยกําหนดกรอบการประเมินครอบคลุมช่วงระยะเวลา 30 ปีระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2563 –2592 (ทศวรรษที่ 2020s – 2040s) ทั้งนี้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะทําการประเมินเชิงพื้นที่เป็นรายจังหวัดในเขตลุ่มนํ้าชี-มูล

    • การประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางของกลุ่มเกษตรกรต่อผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ทั้งนี้โดยตั้งเป้าหมายที่จะทําการประเมินพื้นที่ตําบลในเขตที่เสี่ยงภัยต่างกัน 4 ตําบล และทําการจัดทําแนวทางการปรับตัวเพื่อใช้บริหารจัดการความเสี่ยงจากสภาพอากาศในอนาคต

    ดาวน์โหลดที่นี่